เชอร์โนบิล มรดกการท่องเที่ยว จากหายนะภัยร้ายแรงจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เหตุการณ์ ‘ซีเซียม-137’ ที่เกิดขึ้น ทำให้ชื่อของ “เชอร์โนบิล” กลับมาพูดถึงอีกครั้ง เพราะที่นี่เกิดหนึ่งเหตุการณ์หายนะภัยครั้งร้ายแรงที่ว่าด้วยการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี
โดยล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมายืนยันว่า เหตุการณ์ ‘ซีเซียม-137’ ไม่ได้ร้ายแรงแบบเชอร์โนบิล แล้ว “เชอร์โนบิล” นั้น คือ อะไร ร้ายแรงขนาดไหน เรามาทบทวนความจำของหายนะภัยครั้งสำคัญกันอีกครั้ง
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในประเทศยูเครน ตั้งอยู่ที่เมือง “พรีเพียต” เดิมอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศสหภาพโซเวียต ส่วนปัจจุบันเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ ทางตอนเหนือของยูเครนใกล้ชายแดนเบลารุส
เชอร์โนบิลเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประเภท RMBK แห่งที่ 3 ของ สหภาพโซเวียต และเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกบนแผ่นดินยูเครน เริ่มดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ ในปี ค.ศ. 1978
ในเช้าของวันที่ 26 เมษายน 1986 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเกิดเหตุระเบิด ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนั้นเกิดจากการทดสอบระบบช่วงกลางคืน แต่เกิดความผิดพลาดทำให้แกนปฏิกรณ์หมายเลข 4 หลอมละลายจนเกิดระเบิดขึ้นมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันทีกว่า 30 ราย
จากอุบัติเหตุในโรงงาน ได้กลายเป็นหายนะภัยครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก เพราะเกิดกัมมันตภาพรังสีที่มีอันตรายร้ายแรงรั่วไหลไปกว่า 8 ตัน แพร่กระจายออกไปทั่วทุกทิศทาง ทำให้เมืองพรีเพียต กลายเป็นเขตปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีเข้มข้น ส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง ทั้งในยูเครน รัสเซียตะวันตก และกลุ่มประเทศยุโรป
หลังจากนั้นยังได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 4,000 คน โดยเกิดอาการเจ็บป่วยในภายหลัง และว่ากันว่า อานุภาพความร้ายแรงนั้น มากกว่ารังสีจากระเบิดปรมาณูที่ถล่มเมืองนางาซากิและฮิโรชิมะในสงครามโลกครั้งที่สอง นับ 100 เท่า
หลังเชอร์โนบิลระเบิดนอกจากการปิดโรงไฟฟ้าแล้ว ยังมีการประกาศให้พื้นที่ในรัศมี 30 กิโลเมตร รอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเป็นเขตอันตราย มีการปิดเมืองพรีเพียต และอพยพผู้คนออกจากเมืองนี้ทันที ทำให้กลายเป็นหนึ่งในเมืองร้างที่บรรยากาศสุดหลอนแห่งหนึ่งของโลก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเชอร์โนบิลกลายเป็นเขตอันตราย แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปกว่า 20 ปี ระดับความรุนแรงของกัมมันตภาพรังสีค่อย ๆ เบาบางลง ทางการยูเครนจึงเปิดให้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ที่เคยถูกปิดตายในรัศมี 30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าฯ และมีการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวแบบเป็นทางการอีกด้วย ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด เช่น การเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ ห้ามออกนอกเส้นทาง ห้ามเก็บอะไรติดตัวไป เป็นต้น
ทั้งนี้มีการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวตลอดแนวแม่น้ำปรีเปียต (Pripyat) และแม่น้ำอูซห์ (Uzh) ภายในเขตอันตรายของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลซึ่งทุกเส้นทางได้รับการตรวจสอบโดยอุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณรังสีและได้รับการรับรองว่าปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว
ติดตามข่าวสารท่องเที่ยวได้ที่ >>> ข่าวท่องเที่ยว
สมัครสมาชิก >>> คลิ๊ก